7 สิทธิประกันสังคมที่เราจะได้รับในฐานะผู้ประกันตนมีอะไรบ้าง? 

7 สิทธิประกันสังคม

สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน  

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม หลักๆ มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 

  1. ผู้ประกันตน 
  2. นายจ้าง 
  3. รัฐบาล 

สิทธิประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย ! 

สำหรับสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วแต่กรณี ในที่นี้จะขอพูดถึง 7 สิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมก่อนนะ 

 7 สิทธิประกันสังคม ที่เราจะได้รับ ในฐานะผู้ประกันตน  มีอะไรบ้าง?  

1. สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย  ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาล เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน และหากเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลรัฐ และเอกชนอื่นๆ ก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมหลังจากได้รับการรักษาได้ โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ 

(1) กรณีเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ในสถานพยาบาลรัฐ สามารถเบิกได้ตามจริง และสามารถเบิกจ่ายกรณีเข้ารักษาที่สถานพยาบาลเอกชนได้ไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง
(2) กรณีเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในสถานพยาบาลรัฐ สามารถเบิกได้ตามจริง ยกเว้นค่าห้อง และค่าอาหาร ที่เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท และสามารถเบิกจ่ายกรณีเข้ารักษาที่สถานพยาบาลเอกชนได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท, ค่าห้อง และค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท หากมีการรักษาในห้อง ICU สามารถเบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท และเมื่อได้รับการผ่าตัดใหญ่ จะสามารถเบิกได้ไม่เกิน 8,000-16,000 บาท 

นอกจากค่าสิทธิรักษาในสถานพยาบาลแล้ว ยังได้รับสิทธิในการทำทันตกรรม ไม่เกิน 900 บาท/ปี ด้วย 

2. สิทธิประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 12 เดือน หรือ 1 ปี จะได้ค่าสงเคราะห์บุตร เดือนละ 600 บาทต่อคน เป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี โดยมีการยกเว้นการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น ซึ่งสิทธิประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตร สามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกิน 3 คน 

3. สิทธิประกันสังคมกรณีคลอดบุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 15 เดือน หรือ 1 ปี 3 เดือน จะได้รับค่าคลอดบุตร 13,000 บาท โดยสามารถเลือกใช้สิทธิได้จากฝ่ายชาย หรือหญิง ฝ่ายเดียวเท่านั้น และสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยผู้ประกันตนฝ่ายหญิง จะได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนหลังคลอด ซึ่งสิทธินี้ จะใช้ได้เมื่อคลอดลูกคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น 

4.สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นนานกว่า 6 เดือน สามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐ ภายใน 30 วัน ตั้งแต่ออกจากงาน จะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ในระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน/ปี 

5. สิทธิประกันสังคมกรณีทุพพลภาพ เมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาล เงินชดเชยรายได้ เงินบำเหน็จ เมื่อสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะของร่างกาย หรือจิตใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ตลอดชีวิต 

6. สิทธิประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ครอบครัว หรือทายาทของผู้ประกันตนจะได้เงินสงเคราะห์ และค่าทำศพ 40,000 บาท เมื่อแสดงหลักฐานจากฌาปนสถาน สำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาบัตรประชาชนของคนในครอบครัว กับสำนักงานประกันสังคม เมื่อผู้เสียชีวิตเคยจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมนานกว่า 1 เดือน 

7. สิทธิประกันสังคมกรณีชราภาพ 

(7.1) กรณีบำนาญชราภาพ
สำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบมานานกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน 

(7.2) กรณีบำเหน็จชราภาพ
สำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี และมีการจ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไป หรือ 1 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามจำนวนเงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม พร้อมทั้งเงินสมทบจากนายจ้าง และผลตอบแทนจากกองทุนประกันสังคม แต่หากมีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 1 ปี จะได้รับเพียงเงินที่ตัวเองจ่ายเงินสมทบเท่านั้น